Article

ฮอร์โมนวัยว้าวุ่น…เกิดขึ้นทุกช่วงวัย

ฮอร์โมนวัยว้าวุ่น…เกิดขึ้นทุกช่วงวัย

นพ.พลวัฒน์ ปรีชาบริสุทธิ์กุล M.D. Preventive medicine, ABAARM, CNW, MSc

หลายๆ คนน่าจะเคยได้ผ่านตากับซีรีย์ดังจากบ้านนาดาวบางกอกอย่าง “ฮอร์โมน…วัยว้าวุ่น” ที่เรื่องจะเน้นไปยังวัยรุ่นที่มักจะมีคนกล่าวไว้ว่าเป็นวัยที่ฮอร์โมนพลุ่งพล่าน พร้อมพุ่งทะยานท้าทายสิ่งใหม่ๆ หลายคนก็มักจะบอกว่าเป็นเพราะฮอร์โมนเปลี่ยนแปลงซึ่งก็ไม่ได้ผิดซะทีเดียว ในความเป็นจริงแล้ววัยที่ฮอร์โมนเปลี่ยนไม่ได้มีแต่ในวัยรุ่นเท่านั้น เมื่อทุกอย่างมีขึ้นก็มีลง ฮอร์โมนก็เช่นกัน หากวัยเด็กสู่วัยรุ่นเป็นวัยที่ฮอร์โมนสูงขึ้นสู่จุดสูงสุด จากวัยรุ่นสู่วัยรุ่นใหญ่กว่า ฮอร์โมนก็เปลี่ยนแปลงถดถอยได้เช่นเดียวกัน ส่วนอีกความสำคัญของฮอร์โมนที่จะถูกกล่าวถึงบ่อยๆก็มักจะเป็นเรื่อง 18+ แน่นอนว่าฮอร์โมนเป็นส่วนประกอบสำคัญ แต่ถ้าเรามาทำความรู้จักกับฮอร์โมนกันให้มากขึ้น แล้วจะพบว่าฮอร์โมนมีความสำคัญมากเพียงใดต่อร่างกาย ซึ่งอาจจะมากกว่าที่คุณคิด

ฮอร์โมนคืออะไร?

ฮอร์โมนเป็นสารเคมีที่ร่างกายสร้างขึ้น มีหน้าที่นำข้อมูลสำคัญส่งไปยังเซลล์ผ่านทางเลือด โดยปกติฮอร์โมนจะมีผลต่อเซลล์เป้าหมายผ่านตัวรับ ฮอร์โมนผลิตโดยต่อมไร้ท่อและเดินทางผ่านกระแสเลือดไปยังเนื้อเยื่อและอวัยวะต่างๆ ฮอร์โมนแต่ละตัวมีเป้าหมายเฉพาะของตัวเอง โดยมีข้อความสำคัญที่ต้องส่งไปเพื่อเป็นคำสั่งให้เซลล์ทำงาน ตัวอย่างเช่น ต่อมไพเนียลผลิตและปล่อยฮอร์โมนเมลาโทนินให้ไหลเวียนผ่านกระแสเลือดและน้ำไขสันหลังรอบๆสมอง ซึ่งตัวรับจะตรวจจับฮอร์โมนเหล่านี้ ระดับเมลาโทนินที่สูงขึ้นเป็นการส่งสัญญาณให้ร่างกายทราบว่าถึงเวลาพักผ่อนแล้ว 

ฮอร์โมนมีหน้าที่หลักในการควบคุมและปรับสมดุลเกือบทุกระบบที่สำคัญในร่างกาย มีผลต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการของมนุษย์ ควบคุมอารมณ์กำหนดว่าคุณจะจัดการกับความเครียดอย่างไร มีอิทธิพลต่อการย่อยอาหาร ภูมิต้านทานและอีกมากมาย ร่างกายต้องการฮอร์โมนตลอดช่วงชีวิตเพื่อให้เซลล์ยังสามารถทำหน้าที่ได้ตามปกติ แต่น่าเสียดายที่ร่างกายของเรามีขีดจำกัดโดยฮอร์โมนต่างๆจะถูกสร้างสูงขึ้นในช่วงวัยรุ่นและมักจะสูงสุดที่อายุ 25 ปี หลังจากนั้นมีแนวโน้มที่จะลดลงเรื่อยๆ เมื่อฮอร์โมนในร่างกายลดลง เซลล์มักจะเริ่มสับสนในหน้าที่ ระบบต่างๆ จะเริ่มทำงานไม่ถูกต้อง  เริ่มเกิดความเสื่อม ซึ่งเป็นสัญญาณที่ทำให้เซลล์รับรู้ว่าเราแก่ลงแล้วนั่นเอง นอกจากอายุแล้วการใช้ชีวิตประจำวันของเรา การเจ็บป่วย ความเครียด ปัจจัยต่างๆมากมายที่อาจส่งผลกระทบและทำให้การสร้างฮอร์โมนในร่างกายน้อยลงเร็วกว่าที่ควรจะเป็น 

ประเภทต่างๆของฮอร์โมน

จากที่กล่าวไปข้างต้นว่าฮอร์โมนนั้นสร้างจากต่อมไร้ท่อที่มีอยู่ทั่วร่างกาย ต่อมเหล่านี้ได้แก่

  • ไฮโปทาลามัส: ควบคุมความกระหาย ความหิว การนอนหลับ แรงขับทางเพศ อารมณ์ อุณหภูมิของร่างกายและการปล่อยฮอร์โมนอื่นๆ
  • พาราไทรอยด์: ควบคุมแคลเซียม
  • ไธมัส: ควบคุมระบบภูมิคุ้มกันแบบปรับตัว
  • ตับอ่อน: ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
  • ไทรอยด์: ควบคุมอัตราการเต้นของหัวใจและการเผาผลาญแคลอรี่
  • ต่อมหมวกไต: ควบคุมความเครียดและแรงขับทางเพศ
  • ต่อมใต้สมอง: ควบคุมการเจริญเติบโต และกระตุ้นการสร้างฮอร์โมนของต่อมต่างๆ
  • ต่อมไพเนียล: ควบคุมการนอนหลับ
  • รังไข่ในผู้หญิง: ควบคุมฮอร์โมนเพศหญิง
  • อัณฑะในผู้ชาย: ควบคุมฮอร์โมนเพศชาย

เราจะเห็นว่าฮอร์โมนในร่างกายมีหลายประเภท และทำงานสอดประสานกันเหมือนวงดนตรี เมื่อมีความไม่สมดุลของฮอร์โมนอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็จะส่งผลต่อการทำงานของระบบนั้นๆ ในร่างกาย และอาจส่งผลกระทบให้เกิดความไม่สมดุลของฮอร์โมนตัวอื่นได้ด้วยเช่นกัน ฮอร์โมนสำคัญบางชนิดที่พบในร่างกาย ได้แก่ :

  • ฮอร์โมนเพศหญิงเอสโตรเจน (Estrogen): มีผลต่อความต้องการทางเพศในเพศหญิงและควบคุมรอบประจำเดือน มีผลต่อการควบคุมการสร้างและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อรวมถึงกระดูกในเพศหญิง การเผาผลาญไขมัน การควบคุมอารมณ์ ความจำและการตัดสินใจ ความสวยงามและความชุ่มชื้นของผิวพรรณ นอกจากนี้พบว่ายังช่วยป้องกันโรคสมองเสื่อมและโรคหัวใจ
  • ฮอร์โมนเพศหญิงโปรเจสเตอโรน (Progesterone): มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงของร่างกายขณะตั้งครรภ์ มีผลต่อการควบคุมอารมณ์ โดยเฉพาะการผ่อนคลายและการนอนหลับโดยเฉพาะในเพศหญิง 
  • ฮอร์โมนเพศชายเทสโทสเตอโรน (Testosterone): ควบคุมความต้องการทางเพศทั้งในชายและหญิง ควบคุมการสร้างและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อในเพศชาย มีผลต่อการเผาผลาญไขมัน การควบคุมอารมณ์ ความจำและการตัดสินใจ
  • ไทรอยด์ (Thyroid hormone): มีผลต่อการสร้างพลังงานและการเผาผลาญของร่างกาย การควบคุมน้ำหนัก ความดัน การเต้นของหัวใจ นอกจากนี้ยังพบว่ามีผลต่อระบบภูมิต้านทาน ระบบทางเดินอาหาร ไปจนถึงการซ่อมแซมฟื้นฟูร่างงกาย 
  • คอร์ติซอล (Cortisol): ควบคุมการตอบสนองต่อความเครียด มีผลต่อวงจรการนอนหลับที่สมบูรณ์ พลังงานและความสดชื่นของร่างกาย การควบคุมความดันโลหิตและการควบคุมภูมิต้านทานของร่างกาย
  • เมลาโทนิน (Melatonin): ควบคุมจังหวะนาฬิกาชีวิตของร่างกายและวงจรการนอนหลับที่สมบูรณ์
  • ซีโรโทนิน (Serotonin): ควบคุมอารมณ์โดยช่วยทำให้รู้สึกผ่อนคลายและมีความสุข ต้านอารมณ์ซึมเศร้า ควบคุมทางเดินอาหารและมีผลช่วยควบคุมความอยากอาหาร
  • โกรทฮอร์โมน (Growth hormone): ควบคุมการแบ่งตัวของเซลล์มีผลการเจริญเติบโตและการซ่อมแซมฟื้นฟูร่างกาย
  • อินซูลิน (Insulin): ตอบสนองต่อการควบคุมน้ำตาลในกระแสเลือด มีผลต่อความอยากอาหาร การสร้างกล้ามเนื้อ 

จะเห็นได้ว่าหากฮอร์โมนสมดุลดี ร่างกายก็จะทำงานได้เป็นปกติ ได้รับการฟื้นฟูอย่างเต็มที่ สามารถชะลอความเสื่อมและความแก่ของเซลล์ได้ ดังนั้นสมดุลของฮอร์โมนจึงเป็นสิ่งที่คุณไม่สามารถละเลยได้

ความไม่สมดุลของฮอร์โมนคืออะไร?

ความไม่สมดุลของฮอร์โมนเกิดขึ้นเมื่อฮอร์โมนของคุณไม่ได้รับการผลิตในระดับที่เหมาะสม บางครั้งความไม่สมดุลหมายถึงการขาดฮอร์โมนหรือร่างกายสร้างฮอร์โมนมากเกินไป ชนิดของฮอร์โมนที่ไม่สมดุลจะมีบทบาทสำคัญและส่งสัญญาณว่าอาการจะแสดงออกมาอย่างไร ซึ่งบางครั้งพบว่าอาจจะมีความคาบเกี่ยวกันเพราะฮอร์โมนในร่างกายมักจะทำงานสอดประสานกันไปมานั่นเอง ทั้งชายและหญิงสามารถพบความไม่สมดุลของฮอร์โมน เด็ก วัยรุ่น ผู้ใหญ่และผู้สูงอายุก็อาจพบว่าฮอร์โมนไม่สมดุลได้ แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงของชีวิตที่พบบ่อยบางอย่างที่อาจทำให้เกิดความไม่สมดุลของฮอร์โมน เช่น วัยหมดประจำเดือน นั่นไม่ได้หมายความว่าร่างกายของคุณไม่ต้องการฮอร์โมนแล้ว เพียงแต่ร่างกายอาจไม่สามารถผลิตได้ ในขณะเดียวกันเราก็พบว่าบางคนอาจหมดประจำเดือนเร็วกว่าที่ควรจะเป็น นั่นก็แสดงว่าเราสามารถที่จะเร่งหรือชะลอการลดลงของฮอร์โมนได้เช่นกัน 

เนื่องจากฮอร์โมนและการทำงานของฮอร์โมนมีความหลากหลาย หากจะดูจากอาการแสดงเพียงอย่างเดียวนั้นคงไม่ใช่เรื่องง่าย ทางออกที่ดีและมีความแม่นยำมากขึ้นคือ การได้รับการตรวจระดับฮอร์โมนเป็นครั้งคราวโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเริ่มมีอาการผิดปกติ

ข้อสังเกตที่เราพบในปัจจุบันนั่นคือ บางครั้งเราอาจจะให้ความสำคัญเรื่องตัวเลขระดับฮอร์โมนมากกว่าอาการ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าระดับของฮอร์โมนชนิดหนึ่งต่ำกว่า 5 ถือว่ามีความผิดปกติ ถ้าคน 2 คนที่มีอาการเหมือนกัน มาตรวจด้วยเรื่องฮอร์โมนไม่สมดุล คนแรกตรวจได้ 4.8 กับคนที่ 2 ตรวจได้ 5.2 จะมีหนึ่งคนที่ได้รับการรักษาแต่อีกคนอาจจะไม่ได้รับการรักษาเกี่ยวกับฮอร์โมน เราอาจจะต้องพิจารณาว่าความต้องการฮอร์โมนของแต่คนย่อมมีความแตกต่างกันได้ ดังนั้น ตัวเลขที่อยู่ในเกณฑ์ปกติอาจจะยังไม่เพียงพอกับร่างกายของคนคนหนึ่งได้นั่นเอง ถ้าเราจะเปรียบเทียบฮอร์โมนเป็นเงิน การมีเงินในระดับที่มากเพียงพอก็ให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นได้ น้อยไปก็แย่ มากเกินไปก็มีผลเสียได้  

อาการทั่วไปของความไม่สมดุลของฮอร์โมน?

ต้องขอย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า อาการแสดงของฮอร์โมนที่ไม่สมดุลนั้นอาจจะขึ้นอยู่กับระดับของฮอร์โมนชนิดใดชนิดหนึ่งที่ไม่สมดุลหรืออาจเป็นอาการแสดงของความไม่สมดุลของหลายฮอร์โมนร่วมกัน และในบางครั้งก็ยังพบความไม่สมดุลของฮอร์โมนที่มีอาการแสดงเหมือนกันได้อีกด้วย แต่สิ่งสำคัญที่เราต้องคิดไว้เสมอ คืออาการนั้นบางครั้งก็ไม่ได้เกิดจากความสมดุลของฮอร์โมนได้ด้วยเช่นกัน หมอเลยต้องมีความอาร์ทในการวินิจฉัยโดยไม่พยายามคิดถึงแต่ความไม่สมดุลของฮอร์โมนเพียงอย่างเดียว ตัวอย่างอาการทั่วไปที่อาจพบได้:

  • ความเหนื่อยล้า – พบได้บ่อยในความไม่สมดุลของฮอร์โมนทุกประเภท
  • ความหงุดหงิด – พบได้บ่อยในผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความไม่สมดุลของฮอร์โมนเพศหญิงเพศชาย ฮอร์โมนความเครียด และฮอร์โมนความสุข
  • อารมณ์แปรปรวน – พบได้บ่อยในความไม่สมดุลของฮอร์โมนเพศ
  • การเปลี่ยนแปลงของน้ำหนัก – ฮอร์โมนไทรอยด์ในระดับสูงอาจทำให้น้ำหนักลดลง ในขณะที่ระดับไทรอยด์ต่ำและความไม่สมดุลของฮอร์โมนเพศหญิง ฮอร์โมนเพศชาย หรือฮอร์โมนความเครียดมักทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้น
  • การสูญเสียกล้ามเนื้อ – ส่วนใหญ่เกิดจากความไม่สมดุลของฮอร์โมนเพศชายและหญิง และโกรทฮอร์โมน (Growth hormone)
  • ความหนาแน่นของกระดูกลดลง – ความไม่สมดุลของต่อมไทรอยด์และฮอร์โมนเพศอาจทำให้สูญเสียมวลกระดูก
  • ความไวต่อความร้อนหรือความเย็นเพิ่มขึ้น – ฮอร์โมนไทรอยด์ในระดับที่สูงผิดปกติอาจทำให้แพ้ความร้อนได้ในขณะที่ระดับต่ำอาจทำให้คนเราไวต่อความเย็นมากเกินไป 
  • อาการร้อนวูบวาบและ / หรือเหงื่อออกตอนกลางคืน – พบได้บ่อยมากกับความไม่สมดุลของฮอร์โมนเพศหญิงและฮอร์โมนเพศชายต่ำ
  • ความไม่สนใจหรือความผิดปกติทางเพศ – ส่วนใหญ่เกิดจากความไม่สมดุลของฮอร์โมนเพศชายและหญิง
  • ภาวะมีบุตรยาก – อาจเกิดขึ้นได้จากการรบกวนของฮอร์โมนเพศ
  • การเปลี่ยนแปลงของผิวหนัง – ผิวหนังสามารถได้รับผลกระทบจากความไม่สมดุลของฮอร์โมนทั่วไป การเปลี่ยนแปลงอาจรวมถึงความแห้งกร้านอย่างรุนแรง ผิวบางลง ผิวมัน และการระบาดของสิว
  • ผมร่วง – มักพบปัญหาต่อมไทรอยด์ต่ำ หรืออนุพันธ์ของฮอร์โมนเพศชายชนิด DHT สูงผิดปกติ
  • ความวิตกกังวล / ภาวะซึมเศร้า – สามารถเกิดขึ้นได้กับความไม่สมดุลที่พบบ่อยทั้งหมด
  • อัตราการเต้นของหัวใจเปลี่ยนแปลงหรือใจสั่น – ความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ ความไม่สมดุลของฮอร์โมนเพศ และความไม่สมดุลของฮอร์โมนความเครียดล้วนทำให้เกิดอาการเหล่านี้ได้
  • ระดับคอเลสเตอรอลที่เพิ่มขึ้น – ระดับฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ ฮอร์โมนเพศชายและฮอร์โมนเอสโตรเจน / โปรเจสเตอโรนต่ำอาจทำให้ระดับคอเลสเตอรอลสูงขึ้น
  • ปัญหาเกี่ยวกับความจำ – อาจเกิดขึ้นได้ในความไม่สมดุลของฮอร์โมนทั่วไป
  • โฟกัส / สมาธิไม่ดี – อาการทั่วไปของความไม่สมดุลของฮอร์โมนใด ๆ
  • ท้องผูกการย่อยไม่ดี – อาจเกิดจากภาวะฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำร่วมด้วย

การทดสอบความไม่สมดุลของฮอร์โมน

แพทย์สามารถเลือกการทดสอบได้หลายวิธีเพื่อตรวจหาความไม่สมดุลของฮอร์โมน โดยจะพิจารณาจากอาการเป็นสำคัญ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องแจ้งให้แพทย์ทราบอย่างครบถ้วนเกี่ยวกับอาการของคุณเพื่อให้สามารถพิจารณาสั่งตรวจฮอร์โมนที่เหมาะสมได้ การตรวจเลือดเป็นวิธีทดสอบระดับฮอร์โมนที่พบบ่อยที่สุดวิธีหนึ่ง การทดสอบนี้สามารถตรวจจับระดับฮอร์โมนเพศ คอร์ติซอล และไทรอยด์ และอีกหลายๆ ฮอร์โมน นอกจากนี้ยังมีการตรวจทางน้ำลายและปัสสาวะซึ่งจะมีความจำเป็นในการวินิจฉัยบางสภาวะของความไม่สมดุลของฮอร์โมน การตรวจฮอร์โมนโดยมากมักจะตรวจในช่วงเช้าเนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่ร่างกายสามารถสร้างฮอร์โมนได้มากที่สุดหลังจากได้พักผ่อนมาแล้ว การตรวจฮอร์โมนเพศหญิงอาจต้องมีการคำนวณวันที่เหมาะสมจากรอบเดือนของแต่ละบุคคลเพื่อให้ได้ผลการตรวจที่ชัดเจน หรือการตรวจฮอร์โมนความเครียดอาจจะต้องมีการตรวจ 4 เวลาในระหว่างวัน เป็นต้น

หากแพทย์กังวลเกี่ยวกับต่อมใดๆ ในร่างกาย อาจแนะนำการตรวจเพิ่มเติมเช่น สั่งอัลตราซาวนด์ อาจเป็นกรณีของการทดสอบต่อมใต้สมอง มดลูก อัณฑะ รังไข่และไทรอยด์ การเอกซเรย์หรือ MRI จะช่วยเพิ่มโอกาสให้การวินิจฉัยที่ดีขึ้น การตรวจชิ้นเนื้อของต่อมที่มีปัญหาสามารถช่วยให้พบสาเหตุที่ชัดเจนของต่อมนั้นได้ การส่งตรวจจำนวนอสุจิอาจให้ข้อมูลเพิ่มเติมในกรณีที่ต้องการรักษาเรื่องการมีบุตรยากในเพศชาย ในทางกลับกันผู้หญิงอาจต้องการการตรวจ Pap smear ก้อนซีสต์และความผิดปกติอื่น ๆ ในอวัยวะสืบพันธุ์ ซึ่งสามารถช่วยให้แพทย์วินิจฉัยปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อความสมดุลของฮอร์โมนได้

ดังนั้นหากมีอาการที่สงสัยและกังวลว่าอาจจะเกี่ยวกับความไม่สมดุลของฮอร์โมน ขั้นตอนแรกคือการปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาการทดสอบระดับฮอร์โมน ซึ่งผลจากการตรวจอาจนำไปสู่การตรวจเพิ่มเติมเพื่อระบุสาเหตุที่ชัดเจนของความไม่สมดุลดังกล่าวและเพื่อติดตามการรักษาที่ถูกต้องต่อไป

การรักษาความไม่สมดุลของฮอร์โมน

มีหลายทางเลือกในการรักษาความไม่สมดุลของฮอร์โมน ในที่สุดการรักษาที่คุณจะได้รับจะขึ้นอยู่กับว่าฮอร์โมนตัวใดไม่สมดุลและเป็นสาเหตุของความไม่สมดุล การปรับความสมดุลของฮอร์โมนอาจทำได้โดย 

  • การปรับ Lifestyle เพื่อชะลอการลดลงและกระตุ้นการสร้างฮอร์โมน อาหารที่เราเลือก การออกกำลังกาย การนอนหลับ ความเครียด ปัจจัยต่างๆเหล่านี้ส่งผลต่อสมดุลการสร้างฮอร์โมนในร่างกายทั้งสิ้น 
  • การใช้อาหารเสริมหรือสารสกัดจากธรรมชาติ 
  • การรักษาด้วยยา การผ่าตัด หรือการรักษาเฉพาะ
  • การเสริมด้วยฮอร์โมนทดแทนแบบ Bio identical hormone replacement
  • การกระตุ้นและการฟื้นฟูอวัยวะที่ช่วยสร้างฮอร์โมน เช่น การรักษาด้วยสารสกัดจากรก (Placenta extract) การรักษาด้วยเซลล์บำบัด (Stem cell Therapy) 

ระดับฮอร์โมนสามารถจัดการได้ด้วย HRT: Hormone Replacement Therapy 

การรักษาด้วยฮอร์โมนเป็นการรักษาทั่วไปสำหรับความไม่สมดุลของฮอร์โมน ผู้หญิงที่มีอาการวัยทองไม่สบายตัวอาจเลือกการบำบัดด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจน การบำบัดด้วยฮอร์โมนเพศชายเป็นทางเลือกทั่วไปสำหรับผู้ชายที่มีระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนต่ำหรือวัยรุ่นที่มีวัยแรกรุ่นล่าช้า การทานฮอร์โมนไทรอยด์สามารถช่วยบุคคลที่มีภาวะพร่องไทรอยด์ได้ การรักษาด้วยฮอร์โมนทดแทนดังกล่าวอาจอยู่ในรูปของยาเม็ด แผ่นแปะ ครีม เจล หรือแม้แต่การฉีดยา แพทย์จะเป็นผู้ช่วยคุณเลือกและวางแผนปริมาณการใช้ที่เหมาะสมโดยตรวจระดับฮอร์โมนของคุณ โดยก่อนเริ่มการรักษาแพทย์จะแนะนำให้มีการตรวจ cancer screening เช่น ตรวจความเสี่ยงมะเร็งต่อมลูกหมากในเพศชาย ตรวจความเสี่ยงมะเร็งรังไข่และเต้านมในเพศหญิง 

มีฮอร์โมนหลายประเภทที่อาจใช้ในการบำบัดเหล่านี้ โดยเฉพาะฮอร์โมนชีวภาพ Bio identical Hormone ซึ่งจะมีคุณสมบัติทางเคมีเหมือนกับที่ร่างกายผลิตตามธรรมชาติ มีโครงสร้างโมเลกุลเหมือนกับที่พบในร่างกายของเราจึงสามารถจับคู่กับฮอร์โมนที่คุณขาดได้อย่างสมบูรณ์แบบ หลายคนอาจจะกังวลและได้ยินมาว่าการใช้ฮอร์โมนนั้นอาจจะกระตุ้นให้เกิดมะเร็งได้ ซึ่งเป็นข้อมูลที่ถูกต้องโดยเราพบว่าความเสี่ยงของมะเร็งนั้นเกิดได้มากหากเป็นการเสริมด้วยฮอร์โมนชนิดที่ไม่ได้เป็น Bio identical Hormone เนื่องจากไม่สามารถจับกับตัวรับในร่างกายได้อย่างสมบูรณ์ ส่งผลให้เกิดการกระตุ้นที่อาจจะมากผิดปกติ ซึ่งหากใช้เป็นระยะเวลานานๆย่อมเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งได้ ในส่วนของ Bio identical Hormone นั้นพบว่ามีโอกาสเพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งได้น้อยมากแต่เราก็ยังคงต้องติดตามและเฝ้าระวังเพื่อความปลอดภัยเป็นระยะๆ เช่นกัน    

ฮอร์โมนธรรมชาติที่ไม่ได้มาจากห้องปฎิบัติการนั้นเป็นสารเคมีที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติโดยมีต้นกำเนิดมาจากพืชหรือสัตว์ เช่น จาก Phytoestrogen จากถั่วเหลือง ซึ่งมักจะมีความปลอดภัยกว่าฮอร์โมนสังเคราะห์ แต่ก็มีข้อจำกัด คือต้องเข้าใจว่าสารดังกล่าวเพียงแต่มีลักษณะคล้ายฮอร์โมนแต่จะไม่ได้ตรง 100% เหมือนฮอร์โมนแบบ Bio identical นั่นเอง จึงอาจจะทำให้ไม่ได้ผลการรักษาตามที่ต้องการ 

หากคุณสงสัยว่ามีความไม่สมดุลของฮอร์โมน ทางออกที่ดีที่สุดคือการแก้ไขปัญหาโดยเร็วที่สุด คุณอาจประหลาดใจที่พบว่าการบำบัดด้วยฮอร์โมนมีประโยชน์อย่างไม่น่าเชื่อกับปัญหา เช่น ความเหนื่อยล้า การควบคุมอารมณ์ ความจำและสมาธิ การนอนหลับ การควบคุมน้ำหนัก และอื่นๆ อีกมากมายนอกเหนือจากเรื่องของวัยทอง ประจำเดือน และสมรรถภาพทางเพศ การทำความเข้าใจเกี่ยวกับความสมดุลของฮอร์โมนและการรักษาที่ปลอดภัยและเหมาะสมจะช่วยให้คุณมีก้าวแรกสู่อนาคตที่มีสุขภาพดีและอ่อนวัยอยู่เสมอ

Reference

  • Gina Harper-Harrison; Meaghan M. Shanahan, Hormone Replacement Therapy, June 3, 2020.
  • M. D. Delva, Hormone replacement therapy. Risks, benefits, and costs, Can Fam Physician. 1993 Oct; 39: 2149–2154.
  • Angelo Cagnacci, Martina Venier, The Controversial History of Hormone Replacement Therapy, Medicina (Kaunas). 2019 Sep; 55(9): 602.
  • Louise R Newson, Best practice for HRT: unpicking the evidence, Br J Gen Pract. 2016 Dec; 66(653): 597–598.
  • Olena Pogozhykh, Placenta and Placental Derivatives in Regenerative Therapies: Experimental Studies, History, and Prospects, Stem Cells Int. 2018; 2018: 4837930.
 
Shopping cart0
There are no products in the cart!
Continue shopping
0