Article

Leaky Gut Syndrome: ลำไส้รั่ว มั่วหรือเปล่า?

Leaky Gut Syndrome: ลำไส้รั่ว มั่วหรือเปล่า?

นพ.พลวัฒน์ ปรีชาบริสุทธิ์กุล M.D. Preventive medicine, ABAARM, CNW, MSc

 “All diseases begin in the Gut” หรือ “โรคทุกโรคเริ่มต้นที่ลำไส้” เป็นคำกล่าวของ Hippocrates ผู้ได้รับการยกย่องให้เป็นบิดาแห่งการแพทย์ ก่อนที่แพทย์เราจะเข้าใจกลไกที่ทำให้เกิดโรคได้ดีเท่าทุกวันนี้  แพทย์สมัยก่อนเชื่อว่าอาการเจ็บป่วยบางอย่างอาจเกิดจากความไม่สมดุลในกระเพาะอาหาร ที่เรียกว่า hypochondriasis (ในภาษากรีกโบราณ hypochondrium หมายถึงส่วนบนของช่องท้องบริเวณระหว่างกระดูกหน้าอกและสะดือ) แนวคิดนี้ถูกลบเลือนเมื่อวิทยาศาสตร์มีวิวัฒนาการก้าวหน้ามากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น  เราสามารถดูแบคทีเรีย ปรสิต และไวรัสภายใต้กล้องจุลทรรศน์ การให้ความหมายก็เปลี่ยนไป “hypochondriac” ถูกใช้เพื่ออธิบายบุคคลที่มีความกลัว และกังวลอย่างไม่มีเหตุผลว่าตัวเองจะต้องมีโรคร้ายแรง

ในปัจจุบันเราจะได้ยินกลุ่มโรค Leaky Gut Syndrome หรือถ้าแปลตรงตัวคือ “กลุ่มอาการลำไส้รั่ว” บ่อยครั้งมากขึ้น  ซึ่งต้องบอกเลยว่าโรคนี้แพทย์ส่วนมากจะไม่ได้เรียนในโรงเรียนแพทย์ เพราะยังไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์เพียงพอที่จะสนับสนุนแนวคิดของโรคนี้ได้โดยสมบูรณ์ อาการทางเดินอาหารแปรปรวนผิดปกติ ผื่นผิวหนังอักเสบ สะเก็ดเงิน  โรคแพ้ภูมิตัวเอง ปวดข้อ Office Syndrome ฮอร์โมนไม่สมดุล อ่อนเพลียไม่มีสาเหตุ จนถึงอารมณ์แปรปรวน ซึมเศร้า โรคอ้วน โรคเบาหวาน และอื่นๆ อีกมากมาย ล้วนถูกโยงว่ามีความเกี่ยวข้องกับ Leaky Gut Syndrome  ซึ่งถ้าแนวความคิดโบราณเกี่ยวกับความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นในลำไส้นั้นมีความจริงบ้าง โรคเรื้อรังบางอย่างที่สังคมของเราเผชิญอยู่ในปัจจุบันอาจเกี่ยวข้องกับระบบทางเดินอาหารที่ผิดปกติได้หรือไม่? 

ภายในท้องของเรามีทางเดินอาหาซึ่งมีเยื่อบุลำไส้ที่กว้างขวางครอบคลุมพื้นที่ผิวมากกว่า 4,000 ตารางฟุต เมื่อทำงานอย่างถูกต้องมันจะสร้างกำแพงกั้นเพื่อควบคุมสิ่งที่จะดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด แต่ละเซลล์ของเยื่อบุลำไส้ควรจะเรียบตัวชิดสนิทกันไม่มีช่องว่างและต้องทำงานได้เต็มประสิทธิภาพไม่เลือกดูดซึมมั่วซั่ว เปรียบเทียบก็เหมือนรอยต่อพรมแดนกับด่านตรวจคนเข้าเมือง รอยต่อต้องสนิทไม่ควรให้มีการลักลอบเข้าเมือง เจ้าหน้าที่ก็ต้องตรวจสอบให้ดีก่อนที่จะให้ใครผ่านตม.เราไปได้ Leaky Gut Syndrome จึงไม่ใช่ลำไส้ทะลุเป็นรู แต่เป็นภาวะเยื่อบุลำไส้ที่ไม่แข็งแรงอาจมีรอยแยกเป็นช่องว่างระหว่างเซลล์ จึงทำให้อาหารที่ย่อยไม่สมบูรณ์ สารพิษหรือเชื้อโรคต่าง ๆ สามารถแทรกซึมลักลอบเข้าเมืองได้ และขณะเดียวกันถ้าเราไม่ดูแลเซลล์เยื่อบุให้ดี เจ้าหน้าที่ก็อาจจะน้อยใจ ทำงานไม่ดี ปล่อยให้ทุกอย่างผ่านด่านเข้าไปได้หมด (Increase Permeability) ซึ่งอาจทำให้เกิดการอักเสบ ภูมิคุ้มกันแปรปรวน หรือแพ้ภูมิตัวเอง การเปลี่ยนแปลงสมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้ ซึ่งนำไปสู่ปัญหาในระบบทางเดินอาหารและระบบอื่นๆ เช่น ท้องอืด ลำไส้แปรปรวน กรดไหลย้อน เป็นต้น 

ปัจจุบันการวิจัยทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญในการศึกษาซึ่งแสดงให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงและความไม่สมดุลของแบคทีเรียในลำไส้รวมถึงการอักเสบนั้นมีบทบาทต่อการเกิดโรคเรื้อรังหลายโรค รวมไปถึงภาวะทางจิตใจ เครียด วิตกกังวลซึมเศร้า ก็มีความสัมพันธ์กับระบบทางเดินอาหารเช่นกัน และเมื่ออนุภาคของภูมิต้านทานจากปฏิกิริยานั้นหลุดเข้าไปในกระแสเลือดก็จะเป็นสาเหตุกระตุ้นให้ภูมิต้านทานทำงานมากขึ้นจนผิดเพี้ยน และอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะแพ้ภูมิตัวเองหรือทำให้โรคแพ้ภูมิตัวเองมีความรุนแรงเพิ่มขึ้น

เราอาจจะมองสาเหตุของการเกิด Leaky Gut ได้เป็นเหมือนวงจรที่บางครั้งก็ไม่รู้ว่าอะไรเกิดก่อนกัน และถ้ามองกันในความเป็นจริงเชื่อว่าทุกคนน่าจะมี Leaky Gut กันไม่มากก็น้อย ด้วยการดำเนินชีวิตที่เร่งรีบ การรับประทานอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ การบริโภคน้ำตาลและเกลือเกินพอดี เหล้า บุหรี่ การใช้ยาที่ไม่เหมาะสม สารพิษต่างๆ และความเครียด เป็นต้น ลำไส้เราเป็นอวัยวะภายในที่ต้องเจอกับสิ่งที่ไม่อาจคาดเดาได้อยู่ทุกวัน เนื่องจากสิ่งที่เรารับประทานเพราะคิดว่าดีอาจจะปนเปื้อนหรือมีผลกระทบโดยที่เราไม่รู้ตัว นอกจากนี้อาหารบางชนิดเองก็อาจจะไม่เหมาะกับตัวเราหรือร่างกายของเราเริ่มต่อต้านอาหารประเภทนี้ เช่น การรับประทานอาหารที่มีนมเป็นส่วนประกอบแล้วเป็นสิวหรือผิวหนังอักเสบ ภูมิแพ้ที่บางครั้งไม่ทราบสาเหตุ เนื่องจากลำไส้ต้องสัมผัสกับสิ่งแวดล้อมใหม่อยู่บ่อยๆ ทำให้ร่างกายถูกออกแบบให้มีระบบภูมิต้านทานที่ทางเดินอาหารจำนวนมาก เมื่อมีใครจะมารุกรานก็พร้อมจัดการตอบโต้ได้ทันที ภูมิต้านทานจะทำหน้าที่ตรวจสอบและขึ้นทะเบียนว่าอะไรเป็นมิตรกับร่างกายและอะไรที่เป็นอันตราย ถ้าเรารับประทานอาหารแล้วการย่อยอาหารปกติ อาหารก็จะได้รับการย่อยเป็นสารอาหารและถูกดูดซึมเข้าร่างกาย แต่หากเรารับประทานมากเกินไป การย่อยอาหารไม่สมบูรณ์ เช่น เหลือโปรตีนของนมบางส่วนไว้ ไม่ได้ถูกย่อยเป็นกรดอะมิโน ภูมิต้านทานที่ตรวจเจอก็จะต่อต้าน หากปริมาณไม่มากก็มักจะไม่เป็นปัญหา แต่ถ้าเรารับประทานบ่อยๆ โดนขึ้นทะเบียนทุกวัน ภูมิต้านทานก็จะยิ่งต่อสู้มากขึ้นด้วยการผลิตแอนติบอดี้ (Antibody) ให้มากขึ้น เมื่อปฏิกิริยาการต่อต้านมากเพียงพอก็จะเกิดการอักเสบขึ้น และกระทบการทำงานของเซลล์เยื่อบุลำไส้ กระทบสมดุลของจุลินทรีย์ในทางเดินอาหาร นึกถึงเวลาเกิดสงครามซึ่งพื้นที่โดยรอบก็จะได้รับความเสียหาย จุลินทรีย์พลเมืองดีก็มักเป็นผู้เคราะห์ร้าย ทั้งหมดนี้เป็นอีกที่มาของการเกิด Leaky Gut ภาวะของการเกิดการต่อต้านต่ออาหารนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นการแพ้อาหารชนิดแอบแฝง ซึ่งสามารถตรวจได้ด้วยการตรวจเลือด

การใช้ยาฆ่าเชื้อเกินความจำเป็นก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่ง ขึ้นชื่อว่ายาฆ่าเชื้อ ก็เหมือนโยนระเบิดลงไปในหมู่บ้านที่ไม่ได้สามารถแยกได้ชัดเจนว่าใครเป็นพลเมืองดีหรือใครเป็นผู้ร้าย แบคทีเรียที่ดีหรือโพรไบโอติก (Probiotic) ในร่างกายเราก็โดนจัดการไปด้วย ในทางเดินอาหารเราจะมีแบคทีเรียที่ดีและไม่ดี รวมถึงเชื้อราบางชนิดปะปนกันอยู่ แบคทีเรียที่ดีควรมีจำนวนมากกว่าอีก 2 กลุ่ม และจะคอยช่วยสนับสนุนการทำงานของระบบทางเดินอาหาร ช่วยย่อยอาหาร ช่วยผลิตวิตามินบางชนิด และยังช่วยผลิตสารสื่อประสาทส่งไปยังสมอง จึงมีคำกล่าวว่าทางเดินอาหารเป็นเหมือนสมองที่ 2 ของมนุษย์เรา เป็นเพราะมีสมองของโพรไบโอติกนั่นเอง เมื่อสมดุลของจุลินทรีเสียไป คนไม่ดีเติบโตมีอำนาจก็เกิดสงครามหรือการอักเสบได้อีก ซึ่งอาจนำพาไปสู่ภาวะ Leaky Gut เช่นกัน

เราสามารถวินิจฉัย Leaky Gut ได้ด้วยการตรวจเลือด อุจจาระ และปัสสาวะ การตรวจที่ยืนยันได้ชัดเจนที่สุดคือการตรวจทางปัสสาวะหลังทานน้ำตาล (Lactulose-Mannitol Test) น้ำตาลแลคตูโลสโมเลกุลใหญ่จะไม่ถูกดูดซึมเข้าร่างกาย น้ำตาลแมนนิ โมเลกุลเล็กสามารถถูกดูดซึมได้  หากตรวจในปัสสาวะพบว่ามีน้ำตาลแลคตูโลสก็เป็นข้อบ่งชี้ว่าเกิดภาวะ Leaky Gut ขึ้น ส่วนการตรวจเลือดเป็นการตรวจหาสารบ่งชี้การอักเสบที่มีความเจาะจงกับทางเดินอาหารมากขึ้น เช่นเดียวกับการตรวจอุจจาระ แต่การตรวจอุจจาระสามารถตรวจสมดุลของจุลินทรีย์ในทางเดินอาหารและยังมีข้อมูลในการประเมินสุขภาวะของลำไส้อีกด้วย แม้ว่าการตรวจเลือดและการตรวจอุจจาระอาจจะไม่ใช่การวินิจฉัยโดยตรงแต่ก็สามารถให้ข้อมูลในส่วนที่การตรวจ Leaky Gut โดยตรงทางปัสสาวะไม่ครอบคลุม

การดูแลทางเดินอาหารให้สุขภาพแข็งแรง ไปจนถึงการรักษา Leaky Gut มีแนวทางที่ใกล้เคียงกันมาก  การรักษา Leaky Gut สรุปได้เป็นหลัก 5R Program 

  • Remove (ทิ้งให้หมด) ค้นหาสาเหตุที่รบกวนทางเดินอาหาร เช่น อาหารที่ไม่เหมาะกับร่างกาย และพยายามหลีกเลี่ยงให้มากที่สุด ตัวอย่างอาหารที่มักพบว่ามีปัญหาทำให้ร่างกายสร้างแอนติบอดี้ ได้แก่ นม น้ำตาล กลูเตน แป้งสาลี ยีสต์ ในบางคนพบปัญหากับไข่ขาว เป็นต้น ซึ่งส่วนมากมักเกิดจากการรับประทานอาหารประเภทนั้นบ่อยหรือมากเกินไป ดังนั้นการตอบสนองต่ออาหารจึงมีความแตกต่างกันตามชีวิตประจำวันของแต่ละคน นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงอาหารแปรรูปหรือปนเปื้อนสารพิษ แอลกอฮอล์ บุหรี่ด้วยเช่นกัน  
  • Replace (ชดให้พอ) เติมสิ่งที่จำเป็นต่อระบบทางเดินอาหาร โดยเฉพาะเอนไซม์ช่วยย่อยต่างๆ (Digestive Enzyme) ถ้าเราย่อยอาหารได้ดี ก็จะลดปฏิกิริยาการต่อต้านของภูมิต้านทานได้ และยังช่วยให้ระบบการเคลื่อนตัวของลำไส้ทำงานง่ายขึ้น หากย่อยได้ดีก็ไม่เกิดการหมัก ไม่เกิดแก๊สในทางเดินอาหารจึงลดโอกาสในการเกิดกรดไหลย้อนได้ นอกจากนี้ต้องพิจารณาถึงปริมาณสารอาหารที่จำเป็น วิตามิน เกลือแร่ต่างๆ ซึ่งเราสามารถเลือกรับประทานจากอาหาร หากต้องการปริมาณที่พอเหมาะในการรักษาอาจใช้อาหารเสริมเข้ามาช่วย หรือการให้สารอาหารทางหลอดเลือดดำก็เป็นอีกทางเลือกที่จะทำให้ได้รับสารอาหารแบบเต็ม 100% โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ระบบทางเดินอาหารยังไม่สมบูรณ์
  • Re Populate (ขอเชื้อดี) เติมพลเมืองดีกลับให้ทางเดินอาหารด้วยการเลือกอาหารที่มี โพรไบโอติก และ พรีไบโอติก ตัวอย่างอาหารที่มีโพรไบโอติก ได้แก่ กิมจิ นัตโตะ คอมบุฉะ คีเฟอร์ ในอาหารไทย เช่น ข้าวหมาก แต่ปริมาณของโพรไบโอติกจะมีมากหรือน้อยก็คงไม่อาจทราบได้ การรับประทานโพรไบโอติกในรูปแบบของอาหารเสริมก็เป็นอีกทางเลือกที่เหมาะสม และสามารถทานได้สม่ำเสมอมากกว่า
  • Repair (ตีอุดรูรั่ว) ตามคำอธิบายของ Leaky Gut เราต้องซ่อม อุดรอยรั่วของเซลล์เยื่อบุทางเดินอาหาร ซึ่งสารอาหารที่ช่วยซ่อมแซมร่างกายก็คือ กรดอะมิโน  โดยเฉพาะ กรดอะมิโนชนิดกลูตามีน (Glutamine) นอกจากนี้เรายังต้องลดความรุนแรงของการอักเสบด้วย กรดไขมัน Omega-3 ในน้ำมันปลา ช่วยควบคุมปรับการทำงานของภูมิต้านทานด้วยวิตามิน D3 ได้อีกด้วย หากลดความรุนแรงของการอักเสบได้ย่อมเพิ่มโอกาสในการฟื้นตัวของเซลล์ทางเดินอาหารให้มากขึ้นได้ ซึ่งเราสามารถเลือกรับประทานจากอาหารให้เพียงพอ เลือกรับประทานอาหารเสริม หรือรับสารอาหารทางหลอดเลือดดำได้เช่นกัน 
  • Rebalance Lifestyle (ปรับปรุงตัวใหม่) ที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้นเป็นการรักษาทางเดินอาหาร แต่ร่างกายต้องการความสมดุลของระบบต่างๆ ให้ทำงานสอดคล้องกัน การดูแลรักษาร่างกายจึงควรจะดูแลทุกระบบ การดำเนินชีวิตตามวิถีชีวิตที่เหมาะสมให้มากที่สุดย่อมเป็นการดูแล ฟื้นฟูร่างกายในระยะยาว ด้วยการเลือกอาหารแบบ Raw foods เน้นอาหารประเภทผักหลากสีให้มากขึ้น ดื่มน้ำสะอาดที่มีแร่ธาตุให้เพียงพอ มีการขยับร่างกาย ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พยายามพักผ่อนให้เพียงพอ นอนหลับให้มีคุณภาพ และที่สำคัญต้องมีความคิดบวก ร้องเพลง นั่งสมาธิ รำไทเก๊ก เล่นโยคะ ลดความเครียดของตัวเองลงบ้างจะดีที่สุด 

มาถึงบทสรุปแล้วก็คงจะต้องบอกว่า ในความเห็นส่วนตัวไม่สามารถที่จะปฏิเสธแนวคิดนี้ได้ทั้งหมด เพราะหลังจากที่ได้รักษาตัวเอง รวมถึงดูแลคนไข้ที่มีอาการในกลุ่มโรคนี้ ทุกคนมีอาการดีขึ้น แต่ความแตกต่างเฉพาะบุคคลก็ทำให้ผลการรักษามีความแตกต่างกันไปเช่นกัน ดังนั้น คงพูดไม่ได้ว่าการรักษา Leaky Gut เพียงอย่างเดียวนั้นจะทำให้ทุกอย่างปกติ แต่การพูดว่า การรักษา Leaky Gut สามารถสนับสนุนการรักษาในภาวะต่างๆ ได้นั้นคงไม่ใช่เรื่องที่ผิดทั้งหมดเช่นกัน 

Reference 

  • Helander HF, Surface area of the digestive tract – revisited, Scand J Gastroenterol. 2014 Jun;49(6):681-9. doi: 10.3109/00365521.2014.898326. Epub 2014 Apr 2.
  • Stephan C Bischoff et al, Intestinal permeability – a new target for disease prevention and therapy, BMC Gastroenterol. 2014; 14: 189, Published online 2014 Nov 18. doi: 10.1186/s12876-014-0189-7
  • Camilleri M et al, Leaky gut: mechanisms, measurement and clinical implications in humans, Gut. 2019 Aug;68(8):1516-1526. doi: 10.1136/gutjnl-2019-318427. Epub 2019 May 10.
  • Camilleri M, Gorman H, Intestinal permeability and irritable bowel syndrome, Neurogastroenterol Motil. 2007 Jul;19(7):545-52.
  • Fasano A et al, Leaky gut and autoimmune diseases, Clin Rev Allergy Immunol. 2012 Feb;42(1):71-8. doi: 10.1007/s12016-011-8291-x.
  • Alessio Fasano et al, All disease begins in the (leaky) gut: role of zonulin-mediated gut permeability in the pathogenesis of some chronic inflammatory diseases, Version 1. F1000Res. 2020; 9: F1000 Faculty Rev-69, Published online 2020 Jan 31. doi: 10.12688/f1000research.20510.1
  • Mark E. M. Obrenovich, Leaky Gut, Leaky Brain?, Microorganisms. 2018 Dec; 6(4): 107. Published online 2018 Oct 18. doi: 10.3390/microorganisms6040107
  • Hinze J, Mahan T, Probiotics and their effect on leaky gut syndrome and associated diseases., Int J Pharm Compd. 2000 Sep-Oct; 4(5):349-50.
  • Chiara Sorini et al, Loss of gut barrier integrity triggers activation of islet-reactive T cells and autoimmune diabetes, PNAS July 23, 2019 116 (30) 15140-15149; first published June 10, 2019 https://doi.org/10.1073/pnas.1814558116
  • Lerner A, Matthias T, Changes in intestinal tight junction permeability associated with industrial food additives explain the rising incidence of autoimmune disease, Autoimmun Rev. 2015 Jun;14(6):479-89. doi: 10.1016/j.autrev.2015.01.009. Epub 2015 Feb 9.
  • Kerckhoffs AP, Intestinal permeability in irritable bowel syndrome patients: effects of NSAIDs., Dig Dis Sci. 2010 Mar;55(3):716-23. doi: 10.1007/s10620-009-0765-9. Epub 2009 Mar 3.
  • Goebel A, Altered intestinal permeability in patients with primary fibromyalgia and in patients with complex regional pain syndrome, Rheumatology (Oxford). 2008 Aug;47(8):1223-7. doi: 10.1093/rheumatology/ken140. Epub 2008 Jun 7.
  • Mielants H, Intestinal mucosal permeability in inflammatory rheumatic diseases. II. Role of disease, Rheumatol. 1991 Mar;18(3):394-400. 
 
Shopping cart0
There are no products in the cart!
Continue shopping
0