Article

PRP (Platelet Rich Plasma) Therapy

PRP (Platelet Rich Plasma) Therapy

นพ.พลวัฒน์ ปรีชาบริสุทธิ์กุล M.D. Preventive medicine, ABAARM, CNW, MSc

พลาสม่าที่อุดมด้วยเกล็ดเลือดหรือ PRP เป็นสารที่ช่วยกระตุ้นการฟื้นตัวของเซลล์ในบริเวณที่ได้รับการฉีด โดยเกล็ดเลือดเป็นส่วนประกอบของเลือดที่มี“ ปัจจัย” พิเศษ คือมีโปรตีนที่ช่วยให้เลือดจับตัวเป็นก้อนเมื่อต้องการให้เลือดหยุดไหล นอกจากนี้ยังมีโปรตีนที่สนับสนุนการเจริญเติบโตของเซลล์ (Growth Factor) หลากหลายชนิด เช่น โปรตีนสนับสนุนการสร้างคอลลาเจน  โปรตีนสนับสนุนการสร้างหลอดเลือด  โปรตีนสนับสนุนการซ่อมแซมกล้ามเนื้อ เป็นต้น นักวิจัยและแพทย์ได้ใช้เกล็ดเลือดนี้ในการรักษาในรูปแบบของ  PRP (Platelet Rich Plasma ) โดยการแยกพลาสมา  เกล็ดเลือด และเม็ดเลือดชนิดอื่นออกจากกัน ทำให้ได้พลาสมาที่มีเกล็ดเลือดและโปรตีนสนับสนุน(Growth Factor) ที่เข้มข้นมากขึ้นสามารถนำไปใช้ในการฉีดเฉพาะที่ตามแผนการรักษาของแพทย์ต่อไป 

แนวคิดในการรักษาคือ การฉีด PRP เข้าไปในบริเวณเนื้อเยื่อที่เสียหาย  โปรตีนสนับสนุนการเจริญเติบโตของเซลล์ (Growth Factor) ซึ่งมีความเข้มข้นมากกว่าปกติจะกระตุ้นให้ร่างกายสร้างเซลล์ใหม่ที่แข็งแรงและช่วยส่งเสริมให้ฟื้นตัวได้เร็วขึ้น การรักษาด้วยวิธีนี้แม้จะยังต้องการการศึกษาเพิ่มเติมแต่ก็ได้ถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลาย  แม้แต่นักกีฬาที่มีชื่อเสียง เช่น Tiger Woods และนักเทนนิส Rafael Nadal ก็มีการใช้ PRP เพื่อช่วยรักษาอาการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นเช่นกัน  นอกจากบำบัดอาการบาดเจ็บแล้วยังพบว่า PRP สามารถกระตุ้นการสร้างเซลล์ใหม่ จึงมีการใช้ PRP ในการกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนที่ผิวหนัง กระตุ้นการสร้างผิวกระดูกอ่อนในข้อเข่า กระตุ้นเซลล์รากผม เป็นต้น

ขั้นตอนการทำ PRP  

  1. ผู้สนใจรับการรักษาอาจจะได้รับคำแนะนำให้งดยาบางชนิดที่อาจมีผลรบกวนคุณภาพของเกล็ดเลือดในกรณีที่สามารถงดได้ เช่น ยาแก้ปวดในกลุ่ม NSAID (Diclofenac, Ibuprofen เป็นต้น) ทั้งนี้ขึ้นกับการประเมินของแพทย์และแผนการรักษา 
  2. พยาบาลจะเก็บตัวอย่างเลือด ซึ่งปริมาณของตัวอย่างขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่จะฉีด PRP โดยเฉลี่ยอาจเก็บเลือดประมาณ 20-40 cc ในหลอดเก็บเลือดพิเศษสำหรับทำ PRP โดยเฉพาะ
  3. พยาบาลหรือผู้เชี่ยวชาญจะนำหลอดตัวอย่างเลือดไปใส่ลงในเครื่องหมุนเหวี่ยง (Centrifuge) เพื่อทำให้ส่วนประกอบของเลือดแยกออกจากกัน  ขั้นตอนการแยกนี้ใช้เวลาประมาณ 15 นาที แล้วจะได้พลาสมาและเกล็ดเลือดที่เข้มข้นไปด้วยโปรตีนที่สนับสนุนการเจริญเติบโตของเซลล์ (Growth Factor)  ซึ่งมีลักษณะเป็นน้ำค่อนข้างใส และส่วนของตะกอนเม็ดเลือดต่างๆ ที่อยู่ด้านล่าง
  4. แพทย์หรือพยาบาลจะนำพลาสมานี้มาเตรียมสำหรับการฉีดเข้าไปในบริเวณที่ต้องการ
  5. แพทย์อาจมีการใช้อัลตร้าซาวนด์เพื่อระบุบริเวณที่ต้องการฉีด เช่น เส้นเอ็น จากนั้นแพทย์จะฉีด PRP เข้าไปในบริเวณที่จะทำการรักษา โดยอาจมีการทายาชาก่อนการฉีดตามดุลพินิจของแพทย์
  6. จำนวนครั้งในการฉีดขึ้นกับการประเมินอาการจากแพทย์และการปรึกษาวางแผนการรักษาร่วมกันกับคนไข้

แม้ว่าในปัจจุบันจะยังไม่สามารถรับรองผลการรักษาของ PRP ได้ 100% ในทุกเคส ส่วนหนึ่งเนื่องจากคุณสมบัติของ PRP นั้นจะแตกต่างกันไปตามปริมาณโปรตีนที่สนับสนุนการเจริญเติบโตของเซลล์ (Growth Factor) ในเลือดของผุ้รับการรักษาแต่ละคน  ซึ่งหากมีปริมาณมากก็มีแนวโน้มว่าผลการรักษาจะดีขึ้น นอกจากนี้ยังขึ้นกับชนิดของหลอด PRP เทคนิคการเตรียม PRPรวมทั้ง เทคนิคและประสบการณ์ในการฉีดของแพทย์แต่ละท่านด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตามมีหลายงานวิจัยที่สนับสนุนการรักษาด้วย PRP ในอาการและโรคต่างๆ เช่น

การบาดเจ็บของเส้นเอ็น: เส้นเอ็นเป็นเนื้อเยื่อที่เหนียวและหนาซึ่งเชื่อมต่อกล้ามเนื้อกับกระดูก เส้นเอ็นไม่มีหลอดเลือดมาเลี้ยงโดยตรงจึงมักจะฟื้นตัวหายช้าหลังจากได้รับบาดเจ็บ แพทย์สามารถใช้การฉีด PRP เพื่อรักษาปัญหาเส้นเอ็นเรื้อรัง เช่น Tennis elbow เอ็นร้อยหวายที่ข้อเท้า เส้นเอ็นที่หัวเข่าหรืออาการปวดที่เอ็นกระดูกสะบ้าในหัวเข่า ในส่วนกล้ามเนื้อที่มีการบาดเจ็บก็สามารถใช้ 

การบาดเจ็บเฉียบพลัน: แพทย์สามารถใช้การฉีด PRP เพื่อรักษาอาการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา หรือการบาดเจ็บเฉียบพลันจากอุบัติเหตุ เช่น กล้ามเนื้อบาดเจ็บ โดย PRP จะไปเร่งกระตุ้นการซ่อมแซมของเซลล์กล้ามเนื้อได้ สามารถช่วยลดการอักเสบและอาการปวดได้ 

โรคข้อเข่าเสื่อม: แพทย์สามารถฉีด PRP เข้าไปในหัวเข่าของผู้ที่เป็นโรคข้อเข่าเสื่อม โดยมีการศึกษาจากแหล่งที่เชื่อถือได้พบว่าการฉีด PRP มีประสิทธิภาพในการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมมากกว่าการฉีดกรดไฮยาลูโรนิกซึ่งเป็นการรักษาแบบดั้งเดิม  แม้จะยังต้องมีการศึกษาที่ต่อเนื่อง แต่ก็พบว่าการใช้ PRP สามารถช่วยกระตุ้นการฟื้นตัวเซลล์กระดูกอ่อนในข้อเข่าได้ ซึ่งการเสื่อมสลายของเซลล์กระดูกอ่อนที่ข้อเข่านี้เป็นต้นเหตุสำคัญของการเกิดโรคข้อเข่าเสื่อม

การซ่อมแซมหลังผ่าตัด: บางครั้งแพทย์ใช้การฉีด PRP หลังการผ่าตัดเพื่อซ่อมแซมเส้นเอ็นที่ฉีกขาด เช่น เอ็นข้อมือ เอ็นกลุ่ม rotator ที่ไหล่ หรือเอ็นที่เข่า เช่น เอ็นไขว้หน้าหรือ ACL เป็นต้น

ผมร่วง: แพทย์สามารถฉีด PRP เข้าไปในหนังศีรษะเพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโตของเส้นผมและป้องกันผมร่วง จากการวิจัยแหล่งที่มาที่เชื่อถือได้ในปี 2014 พบว่าการฉีด PRP มีประสิทธิภาพในการรักษาผมร่วงแบบแอนโดรเจน (Androgenic Alopecia ) หรือเรียกอีกอย่างว่า ศีรษะล้านแบบผู้ชาย (Male pattern hair loss) ซึ่งสามารถเกิดได้ทั้งในเพศชายและหญิง นอกจากนี้ยังได้ผลในการรักษาผมร่วงชนิดที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อหรือเป็นแผลชนิดอื่นได้ด้วยเช่นกัน

ริ้วรอยที่ผิวหนัง: PRP มีโปรตีนสนับสนุนการเจริญเติบโตของคอลลาเจน (Collagen growth factor) แพทย์สามารถฉีด PRP ที่บริเวณผิวหนัง เช่น ใบหน้า เพื่อกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนให้ผิว พบว่าช่วยลดริ้วรอยบางชนิด ช่วยฟื้นฟูคุณภาพ ความชุ่มชื้นและความเต่งตึงของผิวได้ 

ภาวะหย่อนสมรรถภาพในเพศชาย: มีการศึกษาพบว่า PRP มีมีโปรตีนสนับสนุนการเจริญเติบโตของเซลล์หลอดเลือด (Vascular endothelial growth factor) และปัจจัยหนึ่งที่เป็นปัญหาในการแข็งตัวของอวัยวะเพศชายที่ผิดปกตินั้นเกิดจากการไหลเวียนของเลือดที่อวัยวะเพศไม่เพียงพอ แพทย์สามารถฉีด PRP ที่บริเวณอวัยวะเพศชายเพื่อกระตุ้น ฟื้นฟูคุณภาพของหลอดเลือดซึ่งพบว่าสามารถช่วยให้สมรรถภาพดีขึ้นได้ แต่ผลการรักษายังขึ้นกับปัจจัยอื่นๆ ประกอบด้วย เช่น ความเครียด ระดับฮอร์โมนเพศชาย เป็นต้น   

เวลาพักฟื้นสำหรับการฉีด PRP 

เมื่อฉีด PRP หลังจากได้รับบาดเจ็บ แพทย์อาจแนะนำให้พักบริเวณที่ได้รับการฉีด อย่างไรก็ตามคำแนะนำเหล่านี้เกี่ยวข้องกับการบาดเจ็บมากกว่าและไม่เกี่ยวข้องกับการฉีด PRP คำแนะนำจึงมักจะอิงตามอาการและการรักษา ส่วนใหญ่ผู้รับการรักษาสามารถทำกิจกรรมประจำวันต่อไปได้หลังจากฉีด PRP

เนื่องจากการฉีด PRP มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการรักษาหรือการฟื้นตัว ผู้รับการรักษาอาจไม่สังเกตเห็นความแตกต่างทันทีหลังจากได้รับการฉีด อย่างไรก็ตามในหลายสัปดาห์ หรือหลายเดือน อาจสังเกตพบว่าบริเวณนั้นหายเร็วขึ้น หรือมีผมงอกขึ้นมากกว่าที่คาดไว้หากไม่ได้รับการฉีด PRP 

ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นของ PRP คืออะไร?

PRP เป็นสารที่ผลิตมาจากร่างกายของผู้รับการรักษาเอง จึงมีความเสี่ยงน้อยมากที่จะเกิดอาการแพ้ อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีความเสี่ยงจากกระบวนการฉีด ได้แก่ :

  • การติดเชื้อ
  • การบาดเจ็บของเส้นประสาท
  • อาการปวดบริเวณที่ฉีด  

ทั้งนี้ แพทย์จะดำเนินการรักษาโดยพยายามลดความเสี่ยงเหล่านี้อย่างเต็มที่ และผู้รับการรักษาจะได้รับคำปรึกษาและประเมินความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นเหล่านี้กับแพทย์ก่อนทำการรักษาด้วยเสมอ 

Reference 

Adrian D. K. Le, Current Clinical Recommendations for Use of Platelet-Rich Plasma, Curr Rev Musculoskelet Med. 2018 Dec; 11(4): 624–634.

J. Stevens, Platelet-rich plasma for androgenetic alopecia: A review of the literature and proposed treatment protocol, Int J Womens Dermatol. 2019 Feb; 5(1): 46–51.

Kellie K. Middleton, Evaluation of the Effects of Platelet-Rich Plasma (PRP) Therapy Involved in the Healing of Sports-Related Soft Tissue Injuries, Iowa Orthop J. 2012; 32: 150–163.

Lucía Gato-Calvo, Platelet-rich plasma in osteoarthritis treatment: review of current evidence, Ther Adv Chronic Dis. 2019; 10: 2040622319825567.

Nasir Hussain, An evidence-based evaluation on the use of platelet rich plasma in orthopedics – a review of the literature, SICOT J. 2017; 3: 57.

 
Shopping cart0
There are no products in the cart!
Continue shopping
0